ความเป็นมาของอำเภอ สมัยก่อนประวัติศาสตร์มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าอำเภอทับปุดเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์โบราณเมื่อราวหลายพันปีมาแล้วโดยปรากฏหลักฐานจากการขุดค้นของนักโบราณคดีพบเครื่องมือหิน ภาชนะดินเผา และภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ตามถ้ำแบบต่างๆ ในละแวกอ่าวพังงาซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองและอำเภอทับปุด สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เดิมพื้นที่ตั้งอำเภอทับปุดเป็นป่ารกร้างและเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2328 ตอนต้นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พม่ายกทัพเข้าล้อมเมืองถลางไว้ราษฎรจากเมืองตะกั่วทุ่งและเมืองถลางได้อพยพครอบครัวหลบหนีพม่าไปอยู่ตามป่าตามเขาในท้องที่ อำเภอเมืองพังงาในปัจจุบันบางพวกอพยพเข้ามาอยู่ในท้องที่อำเภอทับปุดซึ่งขณะนั้นเป็นทุ่งหญ้าและป่าเขา มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ลักษณะพื้นที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยและการเพาะปลูก ผู้อพยพได้สร้างที่พักขึ้นในทุ่งหญ้าแห่งหนึ่งเป็นแบบกระท่อมชั่วคราวหลังเล็กๆ ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ทับ” ทับที่ปลูกนี้ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในพื้นทีเช่นไม้ไผ่และไม้เบญจพรรณต่างๆ เป็นโครงสร้างหลังคาใช้ใบไม้มุงใบไม้ชนิดนี้มีลักษณะคล้ายต้นข่าขนาดใหญ่ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “ปุด” เมื่อสร้างที่พักเสร็จแล้วผู้อพยพก็เลยเรียกชุมชนของตนว่า “บ้านทับปุด” ซึ่งหมายถึง กระท่อมที่สร้างขึ้นโดยใช้ใบปุดมุงหรือกั้น และชื่อนี้ใช้เรียกกันต่อมา ครั้นต่อมา ชุมชนหนาแน่นขึ้นทางราชการจึงยกฐานะบ้านทับปุดเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดพังงา ในปี พ.ศ. 2440 ใช้ชื่ออำเภอตามชุมชนที่เรียกขาน “อำเภอทับปุด” สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนิน ณ ที่ว่าการอำเภอทับปุด ทรงเยี่ยมราษฎร โดยมีผู้นำเต่าทะเลมาทูลเกล้า ทูลกระหม่อมถวายด้วย 1 ตัว จากนั้นเมื่อเสด็จไพระราชดำเนินไปเสวยพระสุธารส ณ พลับพลาในวนอุทยานธารโบกขรณีก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ ได้ทรงหลั่งน้ำเป็นการปล่อยเต่าตัวนั้น
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2526 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพสกนิกรชาวชุมชนคนทุ่งต่อเรือ ( หมู่ที่ 2 ตำบลโคกเจริญ อำเภอทับปุด ) ทุกคนมีความปีติเป็นล้นพ้นโดยใช้สถานที่บริเวรสวนป่าของโรงเรียนโดยความร่วมมือของทุกหมู่เหล่าพร้อมใจกันสร้างที่ประทับรับเสด็จและได้รับพระราชทานเสื้อผ้า เครื่องเขียน แบบเรียน ของเด็กเล่น แก่บุตรหลานของราษฎรในพื้นที่ ของใช้ที่จำเป็นสำหรับคนชรา ของที่ระลึกให้แก่คณะครู พร้อมทั้งให้มีผู้แทนของสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา มาแนะนำและสาธิตวิธีการสอนแผนใหม่ และมอบอุปกรณ์การสอนต่างๆให้กับทางโรงเรียนเช่น วิทยุโรงเรียน หนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชนจำนวน 1 ชุด (5 เล่ม) และอุปกรณ์การสอนอื่นๆ
คำขวัญประจำอำเภอทับปุด
” ประตูสู่พังงา อ้อมกอดแม่ย่าหงส์ ดงขิง ขมิ้น ถิ่นกำเนิดหลวงปู่แช่ม สวยแจ่มน้ำตกเต่าทองเนืองนองกุ้งหอยปูปลาโคกไคร เจดีย์สูงใหญ่วัดบางเหรียง”
– ประตูสู่พังงา นั้น หมายถึง อำเภอทับปุดนั้นมีอาณาเขตทิศเหนือติดกับอำเภอพนมจังหวัด สุราษฎร์ธานี และทิศตะวันออกติดกับจังหวัดกระบี่เปรียบเหมือนเป็นประตูเมืองเข้าสู่จังหวัดพังงา – อ้อมกอดแม่ย่าหงส์ หมายถึง มีทิวเขานางหงส์พาดผ่านราวกับโอบล้อมอำเภอทับปุด – ดงขิง ขมิ้น หมายถึง อำเภอทับปุดโดยเฉพาะตำบลถ้ำทองหลางมีการปลูกขิงขมิ้นเป็นจำนวนมาก – ถิ่นกำเนิดหลวงปู่แช่ม หมายถึง ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุดนั้นเป็นสถานที่กำเนิดของหลวงปู่แช่ม – สวยแจ่มน้ำตกเต่าทอง หมายถึง มีน้ำตกเต่าทองที่มีความสวยงาม – เนืองนองกุ้งหอยปูปลาโคกไคร หมายถึง มีทรัพยากรสัตว์น้ำจำนวนมาก – เจดีย์สูงใหญ่วัดบางเหรียง หมายถึง เจดีย์พุทธธรรมบันลือ ที่ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอทับปุด
ข้อมูลสภาพทั่วไปและการวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบัน 1) ที่ตั้ง อำเภอทับปุดตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดระหว่างเส้นรุ้ง 40 องศา 3ลิปดาเหนือ และเส้นแวง 62 องศา 6 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดพังงา ประมาณ 24 กิโลเมตร โดยมีเทือกเขาทอยและเขานางหงส์กั้นกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 272.429 ตารางกิโลเมตร หรือ 170,268.12 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.53 ของพื้นที่จังหวัดพังงาโดยมีพื้นที่เป็นอันดับที่ 7 ของจังหวัดพังงา อาณาเขต ทิศเหนือ จด อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทิศใต้ จด อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา ทิศตะวันออก จด อำเภออ่าวลึกและอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ทิศตะวันตก จด อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
สภาพภูมิประเทศ อำเภอทับปุด มีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา ประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด มีที่ราบทั่วไปตามหุบเขาและริมแม่น้ำ ที่ราบเหล่านี้อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนาและเลี้ยงสัตว์ ทำสวนยางพารา และสวนผลไม้ ส่วนที่ราบชายฝั่งทะเล ที่เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน ชายฝั่งทะเลมีลักษณะแถบยาวและเว้าแหว่งที่เรียกว่า “ชะวากทะเล” ส่วนใหญ่จึงเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์มีความสำคัญต่อการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง
สภาพภูมิอากาศ อำเภอทับปุด มีที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ติดทะเลบริเวณชายฝั่งอันดามัน จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จากการที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมในเขตร้อนเป็นเหตุให้มีฝนตกชุกเกือบตลอดปี โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,485 มม./ปีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 21 – 31 องศาเซลเซียส มีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ระหว่าง 51 – 99% ฤดูกาล 2 ฤดูกาล คือ – ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนถึงเดือนเมษายน – ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไปจนถึงเดือนธันวาคม
2) การปกครองและประชากร แบ่งตามลักษณะการปกครองส่วนภูมิภาคเป็น 6 ตำบล 38 หมู่บ้านได้แก่ 1. ตำบลทับปุด ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน 2. ตำบลมะรุ่ย ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน 3. ตำบลบ่อแสน ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน 4. ตำบลถ้ำทองหลาง ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน 5. ตำบลโคกเจริญ ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน 6. ตำบลบางเหรียง ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน แบ่งตามลักษณะการปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่ 1. เทศบาลตำบลทับปุด ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลทับปุด 2. องค์การบริหารส่วนตำบลทับปุด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทับปุด (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลทับปุด) และตำบลถ้ำทองหลางทั้งตำบล 3. องค์การบริหารส่วนตำบลมะรุ่ย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมะรุ่ยทั้งตำบล 4. องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแสน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ่อแสนทั้งตำบล 5. องค์การบริหารส่วนตำบลโคกเจริญ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกเจริญทั้งตำบล 6. องค์การบริหารส่วนตำบลบางเหรียง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางเหรียงทั้งตำบล